ปวดหลัง’ อันตรายกว่าที่คิด

ปวดหลัง เป็นอาการที่พบได้บ่อยในผู้สูงอายุและผู้ที่อยู่ในวัยทำงาน โดยทั่วไปแล้ว 70% ของผู้ที่มีอาการนี้สามารถทุเลาลงได้ภายใน 2 สัปดาห์และมากกว่า 90% จะเริ่มหายดีขึ้นใน 4-6 สัปดาห์ แต่อาการปวดหลังนั้นก็มีหลายรูปแบบทั้งปวดหลังส่วนกลาง ส่วนล่าง ส่วนบน หรือการปวดหลังลงขา ปวดแบบเสียว ๆ และอาการปวดแบบอื่น ๆ อีกมากมายที่สามารถบ่งบอกว่าคุณอาจเป็นโรคเกี่ยวกับกระดูกหรือโรคต่าง ๆ ได้ งั้นเรามาเช็คกันดีกว่าว่าปวดหลังแบบไหนอันตรายและเสี่ยงต่อการเป็นโรค

สาเหตุของอาการปวดหลัง

ปวดหลังเกิดจากการเสื่อมหรือเคล็ดขัดยอกของข้อกระดูกสันหลัง กล้ามเนื้อ เส้นเอ็น หมอนรองกระดูกสันหลัง ซึ่งสาเหตุอาจเกิดได้จาก 2 ปัจจัยคือ

  • ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับโรค เช่น การติดเชื้อของวัณโรคกระดูกสันหลัง เซลล์มะเร็งกระจายมาสู่กระดูกสันหลัง หรือความผิดปกติตั้งแต่กำเนิด
  • ปัจจัยที่เกิดจากพฤติกรรม เช่น การยกของหนัก การตกจากที่สูงทำให้หมอนรองกระดูกเคลื่อน การนั่ง ยืน หรือเดินแบบไม่ถูกสุขลักษณะ ก็มีส่วนที่ทำให้ปวดหลังได้เช่นกัน

นอกจากนี้ อาการปวดหลังตามบริเวณต่าง ๆ หากปวดมาเป็นระยะเวลากว่า 4 สัปดาห์แล้วยังไมหาย อาจบ่งบอกว่าคุณอาจจะเป็นโรคที่เกี่ยวข้องกับกระดูกหรือโรคทั่วไปได้ ยกตัวอย่างเช่น

  • ปวดหลังร้าวลงขา

อาการปวดหลังร้าวลงขา เป็นสาเหตุที่เกิดจากโรค ‘หมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท’ ซึ่งสาเหตุของการเกิดโรคนี้มักจะมาจากการยกของหนักมากเกินไปหรือสำหรับวัยทำงานที่มักจะนั่งท่าเดิมอยู่เป็นเวลานาน ไม่ค่อยเปลี่ยนท่าทางหรือลุกเดินบ้าง ทำให้เป็นต้นตอของการเกิดโรคออฟฟิศซินโดรมได้ด้วยเช่นกัน

อาการ : ผู้ที่เป็นโรคนี้มักมีอาการปวดหลังอย่างรุนแรงร้าวไปถึงขา เวลาไอหรือจามจะยิ่งปวดมากกว่าเดิมจนไม่สามารถขยับตัวได้ และอาจมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น ขาอ่อนแรงเดินลำบาก ทรงตัวได้ไม่ดี รวมไปถึงการคุมปัสสาวะและอุจาระไม่ค่อยอยู่

  • ปวดหลังจนก้มหลังไม่ได้

อาการปวดบริเวณหลังแบบกว้าง ๆ ระบุจุดที่ชัดเจนไม่ได้ เป็นสาเหตุที่เกี่ยวข้องกับ ‘โรคกล้ามเนื้อหลังอักเสบเฉียบพลัน’ ซึ่งจะเกี่ยวข้องกับกล้ามเนื้อหลังโดยเฉพาะทำให้ไม่สามารถก้มหรือแอ่นหลังได้ โดยสาเหตุมักเกิดขึ้นจากการที่กล้ามเนื้อถูกใช้งานมากเกินไป เช่น การเล่นกีฬาอย่างหนักหรือการเกิดอุบัติเหตุกระแทกที่หลัง

อาการ : ผู้ที่มีอาการกล้ามเนื้อหลังอักเสบเฉียบพลันจะมีอาการปวดตึงหลังจนไม่สามารถก้มหลังได้ต้องแอ่นหลังตลอดเวลา ซึ่งอาการจะคล้ายกับหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทแต่จะไม่ปวดร้าวลงไปที่ขา

สาเหตุของอาการปวดหลัง

  • ปวดหลังแบบลึกลงไปในข้อ

อาการปวดหลังแบบเสียว ๆ หรือลึกลงไปในข้อต่อมักจะเกิดจาก ‘โรคกระดูกสันหลังเสื่อม’ ซึ่งพบได้มากในผู้สูงอายุหรือกลุ่มเสี่ยงอย่างผู้หญิงในวัย 40 ปีขึ้นไป เพราะข้อต่อมีการเสื่อมสภาพส่งผลให้กระดูกสันหลังทรุดตัวลง โดยระยะแรกมักจะไม่ค่อยแสดงอาการ แต่เมื่ออายุเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ข้อต่อเริ่มเสื่อมมาก จะมีอาการปวดอย่างชัดเจน

อาการ : หากใช้มือกดไปตามข้อกระดูกสันหลังโดยตรงจะมีอาการปวดอย่างชัดเจนจนสามารถระบุตำแหน่งได้ ซึ่งจะรู้สึกแบบปวดลึก ปวดเสียว และรู้สึกขัด ๆ ภายในข้อ รวมถึงอาจเกิดอาการกล้ามเนื้อเกร็งค้าง จนก่อให้เกิดอาการกล้ามเนื้อหลังอักเสบได้

  • ปวดหลังส่วนล่าง

ผู้ที่มีอาการปวดบริเวณหลังส่วนล่างอย่างเช่น สะโพก ก้น ต้นขา มักเกิดสาเหตุจาก ‘โรคกระดูกสันหลังเคลื่อน’ ที่พบได้ใน ผู้ที่ตั้งครรภ์ ผู้ที่อ้วนลงพุง ผู้สูงอายุวัย 50 ปีขึ้นไป หรือผู้ที่ทำงานเกี่ยวกับการใช้หลังก้ม ๆ เงย ๆ เป็นประจำ จะทำให้ข้อต่อกระดูกสันหลังเสื่อมส่งผลให้เกิดโรคกระดูกสันหลังเคลื่อนได้

อาการ : ผู้ป่วยมักมีอาการปวดหลังส่วนล่างมากในบริเวณ สะโพก ก้น ต้นขา โดยเฉพาะเวลายืนหรือเดิน แต่หากเกิดอาการขาชาหรืออ่อนแรงเป็นไปได้ว่ากระดูกเคลื่อนตัวไปโดนเส้นประสาทจึงทำให้เกิดอาการดังกล่าวได้

  • ปวดหลังเหนือบั้นเอวทั้ง 2 ข้าง

โรคที่เกิดจากความผิดปกติในร่างกายอย่าง ‘โรคไต’ และ ‘โรคนิ่ว’ ทำให้เกิดอาการปวดหลังเหนือบั้นเอวทั้งสองข้าง

อาการ : ผู้ที่เป็นโรคไต นิ่วในถุงน้ำดี นิ่วในกระเพาะปัสสาวะ ผู้ที่ติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ รวมไปถึงโรคที่เกี่ยวข้องกับกระเพาะ ลำไส้ มดลูก รังไข่ก็ส่งผลให้เกิดอาการปวดหลังได้เช่นกันแต่ส่วนใหญ่มักจะมีอาการปวดท้องร่วมด้วย

ปวดหลังแบบไหนอันตรายจนต้องผ่าตัด?

โดยทั่วไปแล้วผู้ที่มีอาการปวดหลังอาการจะเริ่มทุเลาลงในสัปดาห์ที่ 2-4 แต่หากหลัง 4 สัปดาห์ไปแล้วยังไม่ดีขึ้นรวมถึงมีอาการน้ำหนักลดลงโดยไม่ทราบสาเหตุ มีไข้ ขาอ่อนแรง ปัสสาวะยาก ปวดร้าวลงขา อาจเป็นอาการปวดเรื้อรังได้ ควรปรึกษาแพทย์เพื่อรับคำแนะนำ แต่ถ้าผู้ป่วยมีอาการปวดมากขึ้นจนไม่สามารถใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างปกติไม่ว่าจะเป็นการลุก ยืน เดิน หรือนั่งลำบาก รวมไปถึงมีอาการชาตามเส้นประสาทเพราะมีการกดทับเส้นประสาทอย่างชัดเจน แพทย์ต้องผ่าตัดเพื่อทำการรักษา โดยมีวิธีผ่าตัด 3 แบบคือ

  1. ผ่าตัดสิ่งที่มากดทับเส้นประสาทออกไป ซึ่งอาจจะเป็นหมอนรองกระดูก หินปูน หรือข้อกระดูกสันหลังที่เคลื่อนมากดทับก็เป็นได้
  2. ใช้โลหะเพื่อยึดและเชื่อมข้อกระดูกสันหลังที่มีการเคลื่อนที่ให้อยู่นิ่ง ๆ
  3. หากกระดูกสันหลังมีการโค้ง งอ หรือโก่ง ต้องแก้ไขโดยการทำให้กระดูกสันหลังเข้ารูป

โดยวิธีการผ่าตัดจะเล็กหรือใหญ่ขึ้นอยู่กับกรณีทั้ง 3 ข้อนี้ หากเกิดจากกระดูกสันหลังเคลื่อนอาจใช้การผ่าตัดแผลเล็กซึ่งพักฟื้นในโรงพยาบาลเพียง 2-3 วันโดยใช้กล้อง Microscope ไปกรอหินปูนออกหรือเอาหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทออก แต่เกิดต้องใส่โลหะหรือปรับรูปกระดูกสันหลังแผลก็จะใหญ่ขึ้นซึ่งต้องใช้เวลาพักฟื้นประมาณ 3-7 วัน

ปวดหลังแบบไหนอันตรายจนต้องผ่าตัด

วิธีป้องกันอาการปวดหลัง

  • หลีกเลี่ยงกิจกรรมที่เป็นอันตรายต่อหลัง เช่น การยกของหนักหรือก้ม ๆ เงย ๆ เป็นประจำ
  • หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ เพราะมันเป็นสาเหตุที่ทำให้หมอนรองกระดูกเสื่อมได้อย่างรวดเร็ว
  • หลีกเลี่ยงการสะพายกระเป๋าหนัก ๆ ข้างเดียวเพราะจะทำให้กล้ามเนื้อทำงานหนักขึ้น
  • ออกกำลังกายในท่ากายบริหารเป็นประจำอย่างน้อยสัปดาห์ละ 4 วัน วันละ 20-30 นาที เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันที่แข็งแรงให้กับสุขภาพ
  • ท่านั่ง ควรนั่งให้เต็มเก้าอี้และเอนหลังไปที่พนักพิง พร้อมกับวางเท้าทั้งสองข้างให้ราบกับพื้นโดยไม่ต้องก้มตัวไปข้างหน้ามากเกินไป
  • ท่ายืน ควรยืนให้ขากว้างเท่ากับสะโพก และยืนหลังตรง ศีรษะตรง หากต้องการก้มควรย่อเข่าลงเล็กน้อย
  • ท่านอน ไม่ควรนอนคว่ำหน้าหรือนั่งนอน ควรนอนหงายบนเตียงสบาย ๆ ไม่แข็งหรือนุ่มจนเกินไปทำให้กระดูกสันหลังเรียงตัวได้ดี ไม่คดงอ

อย่างที่กล่าวไว้ข้างต้นว่า หาก 4 สัปดาห์มาแล้ว อาการปวดหลังของคุณยังไม่มีทีท่าว่าจะดีขึ้น ควรพบแพทย์เพื่อปรึกษาและรับคำแนะนำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากปวดตอนกลางคืนมาก ๆ แบบทนไม่ไหวจนต้องตื่นมากินยา ต้องทำการปรึกษาแพทย์ด่วนเพราะอาจเกิดอันตรายจากความผิดปกติของเส้นประสาทได้

อ้างอิง

Similar Posts