งูสวัด คือ โรคผิวหนังชนิดหนึ่งที่มักจะเกิดขึ้นกับผู้สูงอายุหรือคนที่เคยเป็นอีสุกอีใสมาก่อน เพราะมันเป็นเชื้อตัวเดียวกันซึ่งมีชื่อว่า ไวรัสวาริเซลลา (varicella virus) เมื่อผู้ป่วยหายจากโรคอีสุกอีใสแล้ว เชื้อไวรัสตัวนี้จะเข้าไปหลบซ่อนอยู่ในปมประสาทตามร่างกาย ส่วนใหญ่จะใช้เวลานานนับปีถึงจะแสดงอาการออกมา โดยมันมักจะกำเริบในเวลาที่ภูมิคุ้มกันของร่างกายเริ่มตก เช่น พักผ่อนไม่เพียงพอ มีอาการอ่อนเพลีย เป็นผู้สูงอายุ หรือผู้ป่วยเอชไอวี เป็นต้น
อาการแรกเริ่มของโรคงูสวัด
งูสวัดจะเริ่มแสดงอาการออกมาเป็น 4 ระยะ คือ
ระยะที่ 1 : ช่วงที่ภูมิคุ้มกันของร่างกายเริ่มอ่อนแอ ผู้ที่มีเชื้อไวรัสชนิดนี้อยู่ในตัวอยู่แล้วมันจะเริ่มเพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อย ๆ ในเส้นประสาท ส่งผลให้เริ่มมีอาการปวดแสบปวดร้อนบริเวณร่างกายแบบหาสาเหตุไม่ได้
ระยะที่ 2 : เมื่อเริ่มมีอาการปวดแสบปวดร้อนแล้ว ผ่านไปประมาณ 2-3 วันจะเริ่มมีผื่นแดง ๆ ปรากฎขึ้นและกลายเป็นตุ่มที่มีน้ำใสเรียงตัวกันเป็นแนวยาวตามเส้นประสาทของร่างกาย เช่น แขน ใบหน้า ต้นขา รอบเอว หรือรอบหลังเป็นต้น
ระยะที่ 3 : ต่อมาเมื่อตุ่มน้ำใสแตก จะกลายเป็นแผลและตกสะเก็ด จากนั้นมันจะหายไปเองได้ภายใน 2 สัปดาห์ ซึ่งผู้ป่วยบางคนอาจะมีอาการปวดหัวและมีไข้ร่วมด้วย ถือว่าเป็นปกติ
ระยะที่ 4 : เมื่อแผลหายดีแล้ว ผู้ป่วยส่วนใหญ่อาจมีอาการปวดแสบปวดร้อนตามรอยแนวของแผลที่เกิดขึ้นได้
นอกจากนี้ผู้ที่ป่วยเป็นโรคงูสวัด อาจมีอาการแทรกซ้อนได้ ดังนี้
- อาการปวดตามแนวเส้นประสาทภายหลังการติดเชื้อ มักเกิดกับผู้ที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป ซึ่งบางรายอาจปวดนานเป็นเดือน
- การติดเชื้อที่ตา ติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน
- เส้นประสาทอักเสบ เยื้อหุ้มสมองอักเสบ และสมองอักเสบ
การป้องกันเชื้องูสวัดแพร่กระจายสู่ผู้อื่น
ไวรัสชนิดนี้สามารถแพร่กระจายได้จากการสัมผัสของเหลวที่ตุ่มใส ดังนั้นแล้วผู้ป่วยหรือผู้ที่ใกล้ชิดผู้ป่วยสามารถป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อได้ด้วยวิธีต่อไปนี้
- ผู้ป่วยควรหาผ้ามาปิดที่ตุ่มน้ำใสและไม่ควรจับหรือเกาที่ตุ่ม
- ล้างมือให้สะอาดบ่อย ๆ เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อ
- หลีกเลี่ยงการติดต่อกับผู้ป่วยจนกว่าตุ่มน้ำใสจะตกสะเก็ด
- แยกของใช้ส่วนตัว เช่น ผ้าเช็ดตัว เครื่องนุ่มห่ม หรือที่นอนของผู้ป่วยกับผู้ที่ยังไม่เคยเป็นโรคอีสุกอีใสมาก่อน
- ผู้ที่เป็นโรคงูสวัดแบบแพร่กระจายสามารถแพร่เชื้อทางการหายใจได้ จึงควรแยกผู้ป่วยไม่ให้ใกล้ชิดกับเด็กเล็กหรือผู้ที่ตั้งครรถ์
งูสวัดอันตรายแค่ไหน ถ้าพันรอบเอวจะเสียชีวิตจริงหรือ?
หลายคนคงเคยได้ยินความเชื่อที่ว่า ถ้างูสวัดพันรอบตัวจะเสียชีวิต ซึ่งเป็นความเชื่อที่ผิด เพราะที่จริงแล้วงูสวัดไม่สามารถเกิดขึ้นรอบตัวได้ เนื่องจากแนวของเส้นประสาทจะสิ้นสุดแค่กึ่งกลางลำตัวเท่านั้น ผู้ป่วยจึงสามารถเป็นงูสวัดได้เพียงครึ่งหนึ่งของลำตัวเท่านั้น
แต่ที่คนสมัยโบราณกล่าวเช่นนี้อาจะเป็นเพราะสมัยก่อนยังไม่มีการคิดค้นยาต้านไวรัสหรือวิธีการรักษาออกมาทำให้เชื้ออาจลุกลามไปยังเส้นประสาททั่วทั้งร่างกายและเสี่ยงต่อการเสียชีวิตได้โดยเฉพาะผู้ที่เป็นโรคภูมิคุ้มกันต่ำ โรคมะเร็ง หรือโรค HIV โดยส่วนใหญ่จะเสียชีวิตเกิดจากอวัยวะภายในล้มเหลวซึ่งไม่ได้เกี่ยวข้องกับโรคงูสวัด
การรักษาและป้องกันงูสวัด
การดูแลรักษา
- แพทย์จะให้ยารักษาตามอาการ เช่น ยาแก้ปวดหรือยาลดไข้
- ผู้ที่งูสวัดขึ้นหน้าหรือมีอาการปวดขั้นรุนแรงแพทย์จะรักษาโดนการให้ยาต้านไวรัสเพื่อลดความรุนแรงและช่วยให้หายเร็วขึ้น
- ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ แพทย์จะให้ยาต้านไวรัสชนิดฉีดเข้าหลอดเลือดดำและต้องทำการรักษาที่โรงพยาบาล
- ผู้ที่เป็นงูสวัดที่ตา ต้องทำการรักษาร่วมกับจักษุแพทย์ โดยจะได้รับยาต้านไวรัสชนิดทาและยาหยอดตาเพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนทางตา
การป้องกัน
- ฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันโรคอีสุกอีใสตั้งแต่ก่อนเป็น
- ฉีดวัคซีนป้องกันโรคงูสวัดในผู้สูงอายุตั้งแต่วัย 60 ปีขึ้นไป
- หลีกเลี่ยงการสัมผัสตุ่มของผู้ป่วย โดยเฉพาะผู้ที่ไม่เคยฉีดวัคซีนป้องกันอีสุกอีใสหรือผู้ที่ไม่เคยเป็นอีสุกอีใสมาก่อน
นอกจากนี้ การสร้างภูมิคุ้มกันที่แข็งแรงโดยการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ก็เป็นอีกวิธีที่จะช่วยดูแลรักษาสุขภาพและป้องกันโรคแทรกซ้อนต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้เช่นกัน รวมถึงการเลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย เช่น สมุนไพรที่มีส่วนช่วยในการรักษาโรค ก็สามารถเป็นตัวช่วยในการดูแลรักษาสุขภาพและช่วยลดอาการของโรคได้อีกด้วย
แม้ว่าโรคงูสวัดจะมีแนวทางในการรักษา แต่คงจะดีกว่าถ้าเราไม่ต้องเป็นโรคนี้เลยเพราะนอกจากจะเสียเงินในการรักษาแล้วหากคุณมีโรคแทรกซ้อนอื่น ๆ ก็อาจจะก่อให้เกิดอันตรายต่อชีวิตได้เช่นกัน ทางที่ดีผู้ที่มีโรคเรื้อรังอื่น ๆ หรือผู้สูงอายุควรฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันโรคงูสวัดหรือลดภาวะแทรกซ้อนเมื่อเกิดโรค
อ้างอิง