ผมร่วง ปัญหาที่ทุกคนต้องเจอไม่ว่าผู้หญิงหรือผู้ชาย แต่จะร่วงมากหรือร่วงน้อยก็คงขึ้นอยู่กับหลาย ๆ ปัจจัย ซึ่งโดยทั่วไปแล้วในแต่ละวันผมจะร่วงประมาณ 100 เส้นถือว่าเป็นเรื่องปกติตามธรรมชาติ แต่หากผมเริ่มร่วงเกิน 200 เส้นต่อวันจะนับว่าเข้าข่ายอาการผมร่วงแบบเฉียบพลัน ฉะนั้น คุณอย่านิ่งนอนใจต้องหันมาใส่ใจกับสุขภาพของตัวเองให้แข็งแรงเพราะมันมีผลต่อเส้นผมก่อนที่ศีรษะจะล้านโดยไม่รู้ตัว
ผมร่วง เกิดจากสาเหตุอะไรบ้าง
สาเหตุของผมร่วงสามารถแบ่งออกได้เป็นสองปัจจัย คือ ปัจจัยภายในร่างกายที่ไม่สามารถควบคุมได้กับปัจจัยภายนอกที่เกิดจากสิ่งแวดล้อมและการปฎิบัติต่อเส้นผมที่คุณสามารถปรับเปลี่ยนและควบคุมได้ ซึ่งจะมีอะไรบ้างนั้นมาดูกันเลย
-
ปัจจัยภายใน
- กรรมพันธ์ – ซึ่งส่วนใหญ่แล้วจะพบได้มากในผู้ชาย เพราะร่างกายของผู้ชายจะมีความไวต่อฮอร์โมนแอนโดรเจน (Androgen) ที่เป็นสาเหตุให้เส้นผมมีอายุสั้นกว่าปกติ โดยอาการผมร่วงจะแสดงได้ชัดเจนขึ้นในวัย 18 ปีขึ้นไปและเมื่อคุณมีอายุเพิ่มขึ้น ปริมาณการร่วงของเส้นผมก็จะยิ่งเพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน
- ฮอร์โมน – นับว่าเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ทำให้ผมร่วงเพราะมันคอยดูแลตั้งแต่การลำเลียงอาหารไปจนถึงการกระตุ้นให้เส้นผมเกิดใหม่ โดยหลัก ๆ แล้วฮอร์โมนที่มีส่วนทำให้ผมร่วงจะมี ฮอร์โมน dihydrotestosterone (DHT) กับ ไทรอยด์ฮอร์โมน (Thyroid stimulating hormone)
- ความเครียด – ศัตรูตัวร้ายของร่างกายที่ก่อให้เกิดโรคต่าง ๆ รวมถึง ‘ผมร่วง’ ด้วย เมื่อคุณเครียดอาการเหล่านี้จะไปกระตุ้นให้วงจรชีวิตของเส้นผมเร็วขึ้น จนทำให้ผมร่วงเร็วกว่าปกติ ซึ่งเป็นสาเหตุของการเกิดโรค ผมร่วงทั่วศีรษะได้ นอกจากนี้บางคนเครียดมาก ๆ อาจเป็นโรคดึงผมหรือโรคผมร่วงเป็นหย่อมได้อีกด้วยเช่นกัน
-
ปัจจัยภายนอก
- การสระผมด้วยน้ำอุ่น – สำหรับใครที่หนังศีรษะแห้งอยู่แล้วการสระผมด้วยน้ำอุ่นจะยิ่งทำให้หนังศรีษะแห้งมากกว่าเดิมทำให้เส้นผมอ่อนแอและหลุดร่วงได้ง่าย แต่สำหรับคนที่หนังศีรษะมันก็อาจจะเป็นเรื่องดีเพราะน้ำอุ่นช่วยขจัดความมัน แต่ไม่ควรสระด้วยน้ำอุ่นบ่อย ๆ
- การใช้เคมีกับเส้นผม ทั้งดัด ยืด หรือทำสี – พฤติกรรมเหล่านี้เป็นการเพิ่มความร้อนให้กับเส้นผม ทำให้เคราตินที่มีส่วนช่วยทำให้ผมชุ่มชื้นหายไป เส้นผมก็จะแห้งและแตกปลาย จึงเป็นสาเหตุให้ผมขาดหลุดร่วงได้ง่าย
- หวีผมขณะผมเปียก – ช่วงที่ผมเปียก เป็นช่วงที่เส้นผมมีความบอบบางมากกว่าปกติ การที่หวีผมหรือเช็ดผมแรง ๆ จะทำให้ผมร่วงได้ง่ายมากกว่าปกติ
- การกินอาหารรสจัด – การที่คุณกินเค็มจัด หวานจัด หรือเปรี้ยวจัด จะส่งผลเสียทั้งต่อสุขภาพร่างกายและสุขภาพเส้นผม ซึ่งทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้น เส้นเลือดหดตัว เลือดจึงไม่สามารถเดินทางไปเลี้ยงเส้นผมได้ ผมจึงอ่อนแอเพราะไม่ได้รับสารอาหารที่เพียงพอ
- การอดอาหาร – สำหรับใครที่อดอาหารเพื่อลดน้ำหนักหรือไม่ชอบกินข้าว ทำให้ร่างกายขาดสารอาหารที่มีส่วนสำคัญต่อเส้นผมและทำให้ผมแข็งแรงได้ เช่น โปรตีน เหล็ก สังกะสี
- การดื่มแอลกอฮอล์และสูบบุหรี่ – หากคุณดื่มแอลกอฮอล์หรือสูบบุหรี่ในปริมาณที่มากเป็นประจำ จะทำให้เกิดภาวะเส้นเลือดหดตัว ทำให้เลือดไม่สามารถไปเลี้ยงอวัยวะต่าง ๆ ได้อย่างเต็มที่รวมถึงเส้นผมด้วย
แม้ปัจจัยภายในและภายนอกล้วนเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องระมัดระวังเพื่อไม่ให้เกิดความเสี่ยงต่อการเกิดผมร่วง ซึ่งการออกกำลังกายเป็นประจำเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันที่แข็งแรง ก็เป็นอีกวิธีที่สามารถช่วยให้คุณห่างไกลจากโรคร้ายต่าง ๆ และช่วยลดความเครียดที่เป็นสาเหตุหลักของการเกิดผมร่วงและโรคอื่น ๆ ให้กับคุณได้
5 พฤติกรรมต้องห้าม ถ้าไม่อยากให้ผมร่วง!
เมื่อคุณทราบถึงสาเหตุของปัญหาผมร่วงแล้ว มาลองปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวันและการรับประทานอาหารเพื่อหลีกเลี่ยงอาการศีรษะล้านหรือผมบางก่อนวัยอันควรกัน
- ไม่ขยี้เส้นผมหลังอาบน้ำและลดการหวีผม เนื่องจากเป็นช่วงที่ผมอ่อนแอ
- ใช้ผลิตภัณฑ์บำรุงเส้นผมที่มีส่วนผสมของเคราติน เพราะมันช่วยป้องกันการดูดซับสารต่าง ๆ และยังเป็นการเติมอาหารให้กับเส้นผมอีกด้วย
- หลีกเลี่ยงการกินอาหารรสจัดมาก ๆ ให้หันมากินอาหารที่มีรสอ่อนลงอย่าง เนื้อสัตว์ ไขมัน หรือนมถั่วเหลือง เพื่อช่วยให้เลือดสามารถไปเลี้ยงเส้นผมได้อย่างสะดวกทำให้ผมมีสุขภาพดีและแข็งแรงขึ้น
- หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์และการสูบบุหรี่ นอกจากจะทำให้สุขภาพโดยรวมดีแล้ว ยังทำให้สุขภาพเส้นผมดีขึ้นเช่นกัน
- ทำจิตใจให้แจ่มใสและผ่อนคลายเพื่อจัดการกับปัญหาความเครียด เพราะหากคุณเริ่มมีอาการเครียดผมจะร่วงมากกว่าปกติและอาจทำให้เกิดโรคดึงผมตัวเองแบบไม่รู้ตัวได้
วิธีดูแลเส้นผมให้สวยงามและลดการขาดหลุดร่วง
- รับประทานอาหารที่ช่วยบำรุงสุขภาพเส้นผม เช่น อาหารเสริมไอโอติน หรืออาหารธัญพืชเพื่อสุขภาพ ซึ่งเป็นสารที่จะช่วยบำรุงเล็บ เส้นผม และผิวหนัง
- กรดไขมันโอเมก้า 3 ที่พบได้ใน แซลมอน ทูน่า แมคเคอเรล และอัลมอนด์
- วิตามินบี 6 วิตามินบี 12 และกรดโฟลิก ซึ่งพบได้ในอาหารจำพวก เนื้อหมู เนื้อวัว สัตว์ปีก ปลา ผลิตภัณฑ์จากนม มะเขือเทศ ผลไม้ตระกูลส้ม ถั่วแดง ถั่วดำ ถั่วเหลือง และถั่วเขียว
- โปรตีน สารสำคัญต่อสุขภาพและเส้นผมซึ่งพบได้ใน ปลา ไก่ และไข่
- ธาตุเหล็ก สังกะสี แมกนีเซียม นับว่าเป็นธาตุดีต่อเส้นผม ซึ่งธาตุเหล่านี้พบได้ใน ผักผลไม้ ธัญพืช และพืชตระกูลถั่วหลายชนิด เช่น อะโวคาโด ข้าวโอ๊ต อัลมอนด์ เม็ดมะม่วงหิมพานต์ ฟักทอง ฯลฯ
- เลือกใช้ผลิตภัณฑ์สระผมให้เหมาะกับสภาพเส้นผมของแต่ละคนและควรใช้ครีมนวดผมบำรุงบริเวณปลายผมหลังสระทุกครั้ง
- สระผมให้ถูกวิธี โดยผู้ที่มีสภาพหนังศีรษะมันอาจจะสระผมวันละ 1 ครั้ง แต่ผู้ที่มีหนังศีรษะแห้งอาจจะสระผมวันเว้นวันหรือ 2 วันครั้ง รวมถึงหลีกเลี่ยงการใช้น้ำเย็นจัดหรือน้ำอุ่นในการสระผม
- เล็มปลายผมทุก ๆ 10-12 สัปดาห์เพื่อป้องกันผมแตกปลายและช่วยให้ผมแข็งแรงมากขึ้น
- หมั่นนวดศีรษะเพื่อกระตุ้นให้เลือดไหลเวียน ส่งผลให้ผมใหม่งอกขึ้นมา
หากปัญหาผมร่วงของคุณไม่ได้มาจากปัจจัยภายในที่ไม่สามารถควบคุมได้ ลองปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการดูแลเส้นผมและหลีกเลี่ยงสิ่งที่อาจทำร้ายผมของคุณได้ เพราะผมนับว่าเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อบุคลิกภาพที่สามารถเรียกความมั่นใจให้กับเหล่าผู้หญิงและผู้ชายทั้งหลายได้ หรือหากผมเริ่มร่วงเป็นหย่อมหรือร่วงมากกว่า 200 เส้นต่อวัน ควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อรับคำแนะนำและใช้ยาในการรักษาร่วมกันต่อไป
อ้างอิง