อาการแพ้กัญชา เช็กที่นี่ พร้อมวิธีแก้แบบเร่งด่วน
สำหรับกัญชาเป็นพืชสมุนไพรที่มีมานาน เป็นหนึ่งในยาปลูกพืชที่เก่าแก่ที่หลายคนรู้จัก ในกัญชามีสารสำคัญอยู่ภายในและได้ถูกนำมาใช้เป็นสรรพคุณทางยากันอย่างแพร่หลาย เพราะใช้รักษาโรคได้หลายอย่าง รวมถึงอาการปวดเรื้อรัง คลื่นไส้ เป็นต้น และยังใช้สกัดเป็นน้ำมันกัญชา ซึ่งใช้รักษาอาการป่วยต่างๆ ได้ ต่อมากัญชาถูกควบคุมให้เป็นยาเสพติดจึงถูกระงับห้ามใช้และครอบครองไป จนปัจจุบันได้มีการศึกษาความรู้เกี่ยวกับกัญชาเพื่อประโยชน์ในทางการรักษาโรค จนทำให้กัญชากลับมาได้รับความสนใจอีกครั้ง รวมถึงในประเทศไทยได้มีการอนุญาตให้ปลูกและนำกัญชามาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ได้ และปลดล็อกบางส่วนทำให้กัญชาไม่เป็นยาเสพติดอีกต่อไป ทำให้หลาย ๆ คนลองใช้ แต่บางคนใช้แล้วก็มีอาการไม่พึงประสงค์บางประการ วันนี้เราเลยอยากพาทุกคนมาดูกันว่า อาการที่ไม่พึงประสงค์เหล่านี้คือ อาการแพ้กัญชา หรือไม่
เช็กอาการแพ้กัญชาที่ควรรู้
“กัญชา” หรือต้นกัญชาเป็นพืชล้มลุกชนิด Cannabis sativa L. ในวงศ์ Cannabaceae มีขนาดลำต้นสูงไม่เกิน 2 เมตร ใบมีแฉกลึกเข้าไปทางก้านหลายแฉกแตกต่างกันไปตามสายพันธุ์ ดอกสีเขียว ใบและช่อดอกเพศเมียใช้สูบปนกับยาสูบ มีสรรพคุณทำให้มึนเมา รวมถึงเกิดภาวะผ่อนคลาย หรือนำมาสกัดเป็นน้ำมันเพื่อใช้ประโยชน์ในการรักษา
ในกัญชามีสารประกอบกลุ่มแคนนาบินอยด์ (Cannabinoid) อยู่ 2 ชนิดสำคัญ ได้แก่ สาร CBD (Cannabidiol) และสาร THC (Tetrahydrocannabinol)
- สาร CBD (Cannabidiol) สามารถนำมาใช้ประโยชน์ในทางการแพทย์ได้ เช่น ลดความวิตกกังวล ทำให้ผ่อนคลาย ลดอาการปวด ช่วยแก้อาการนอนไม่หลับ ไม่มีฤทธิ์กล่อมประสาท และไม่ก่อให้เกิดการเสพติด
- สาร THC (Tetrahydrocannabinol) หรือ “สารเมา” เป็นสารที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท โดยสารนี้จะออกมาพร้อมกับสาร CBD ตอนสกัดกัญชา หากร่างกายได้รับสาร THC มากเกินไป อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อร่างกายได้ เช่น ความดันโลหิตเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรง ใจสั่น สติแปรปรวน ประสาทหลอน ทำให้รู้สึกหวาดระแวง มีผลกระทบอย่างมากต่อระบบสมอง หากใช้ในกลุ่มเด็กที่มีอายุน้อยกว่า 25 ปี หรือผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคจิตเวชจะทำให้เสี่ยงต่อการเกิดอาการประสาทหลอนร่วมด้วย
อาการเมากัญชาแม้จะหยุดการบริโภคไปแล้ว แต่อาการก็อาจจะยังไม่ดีขึ้น เนื่องจากสาร THC สามารถตกค้างอยู่ในกระแสเลือดได้นานอยู่หลายวัน ถึงแม้ว่ากัญชาจะมีสรรพคุณมากมายและปลดล็อกเสรีแล้ว แต่ก็ใช่ว่าจะสามารถหามาทานเองได้ทันที เพราะในกัญชามีสารที่ส่งผลต่อระบบประสาท มีฤทธิ์ต่อสมองและทำให้ร่างกายอารมณ์และจิตใจเปลี่ยนแปลงไป ดังนั้น ผู้ที่เพิ่งเริ่มกินเมนูกัญชาควรเริ่มในปริมาณเล็กน้อยเสียก่อน หรือหากจะใช้ในการรักษาโรคควรอยู่ภายใต้คำแนะนำของแพทย์
ทั้งนี้ เมื่อได้รับกัญชาการตอบสนองของร่างกายแต่ละบุคคลย่อมมีความแตกต่างกัน ควรสังเกตอาการตัวเองทุกครั้งเมื่อใช้ ซึ่งอาการผิดปกติที่พบบ่อยและไม่รุนแรง ได้แก่ ง่วงนอนมากกว่าปกติ ปากแห้ง คอแห้ง วิงเวียนศีรษะหรือคลื่นไส้อาเจียน แต่ถ้าหากพบอาการผิดปกติหรือคาดว่าแพ้กัญชาควรไปพบแพทย์โดยเร่งด่วน มีอาการหัวใจเต้นเร็วและผิดจังหวะ เป็นลมหมดสติ เจ็บหน้าอก เหงื่อแตกตัวสั่น อึดอัดหายใจไม่ออก มีอาการกระวนกระวายและวิตกกังวล หูแว่วหรือเกิดภาพหลอน รวมถึงอารมณ์แปรปรวนไม่คงที่ เป็นต้น
จะเห็นได้ว่ากัญชาก็ก่อให้เกิดโทษและเกิดอาการที่ไม่พึงประสงค์ ทั้งกล่อมประสาท ลดการรับรู้และอาจเกิดอันตรายต่อชีวิตได้ โดยเฉพาะในคนที่แพ้ง่ายหรือเมากัญชาหนักๆ เพียงแค่ทานอาหารที่มีส่วนผสมของกัญชาเพียงเล็กน้อยก็มีอาการรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้ ดังนั้น การรับประทานกัญชาที่ดีควรอยู่ภายใต้คำแนะนำที่แพทย์สั่งและไม่ควรทานเกินปริมาณที่กฎหมายกำหนดไว้ด้วย
แนวทางการดูแลเมื่อเกิด อาการแพ้กัญชา
สำหรับใครที่กินกัญชาแล้วมีอาการเมากัญชาหรืออาการแพ้ที่ผิดปกติเล็กน้อย สามารถแก้อาการเมากัญชาในเบื้องต้น ดังนี้
- หากมีอาการปากแห้งคอแห้ง ให้ดื่มน้ำเปล่าตามในปริมาณมากๆ หรือดื่มน้ำมะนาวผสมน้ำผึ้งก็ได้
- หากมึนเมา ให้ดื่มน้ำมะนาวครึ่งลูกผสมเกลือปลายช้อน หรือเคี้ยวพริกไทยแก้เมา
- หากวิงเวียนศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน ให้ดื่มน้ำขิงหรือชงรางจืด ดื่มวันละ 3 เวลา แก้อาการคลื่นไส้อาเจียน
แต่หากพบอาการผิดปกติมากกว่าเดิมจนถึงขั้นรุนแรงให้รีบไปพบแพทย์และแจ้งให้แพทย์ทราบเรื่องการใช้กัญชา เพื่อที่จะได้รับการวินิจฉัยรักษาอย่างถูกต้องและทันท่วงที
กินอย่างไรให้ปลอดภัย
แม้ว่าในปัจจุบันประเทศไทยจะปลดล็อกกฎหมายกัญชากัญชงแล้ว แต่การใช้กัญชาอาจก่อให้เกิดอาการข้างเคียงได้ เช่น เกิดอาการง่วงซึม ดังนั้นไม่ควรขับขี่ยานพาหนะหรือทำงานเกี่ยวกับเครื่องจักรกล เพราะจะเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย หากมีอาการวิงเวียนศีรษะ หัวใจเต้นเร็วหรือช้าลง ความดันโลหิตผิดปกติ อาการสับสน กระวนกระวาย ประสาทหลอน รวมถึงหากใช้แล้วเกิดอาการแพ้ขั้นรุนแรง ควรหยุดใช้และไปพบแพทย์ทันที
การใช้กัญชาทางการแพทย์ยังมีข้อห้ามใช้ในบางกรณี โดยเฉพาะในกลุ่มบุคคลที่เสี่ยงเกิดอันตรายหากบริโภคเข้าไป ได้แก่ กลุ่มเด็กเล็ก หญิงที่วางแผนในการมีบุตร หญิงตั้งครรภ์ หญิงที่ให้นมบุตร เนื่องจากมีโอกาสเสพติดกัญชา และยังส่งผลกระทบต่อพัฒนาการของสมอง ในหญิงที่กำลังตั้งครรภ์หรือให้นมบุตรอยู่ก็อาจส่งผลต่อทารกในครรภ์และผ่านทางการให้น้ำนมได้ หรือกลุ่มคนที่มีโรคประจำตัวอื่นๆ ผู้ป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือดที่มีความผิดปกติของตับและไตรุนแรง ผู้ป่วยโรคจิตเภท หรือผู้ที่ติดสารเสพติดหรือติดสุราอย่างหนัก เพราะกัญชาอาจจะทำให้โรคประจำตัวที่มีอยู่ทรุดลงหรืออาจจะส่งผลต่อยาที่รับประทานอยู่เป็นประจำจนทำให้เกิดอันตรายได้
นอกจากจะนำกัญชามาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์แล้ว ยังมีการแปรรูปเป็นส่วนผสมของผลิตภัณฑ์และการปรุงอาหารต่างๆ อีกด้วย ซึ่งกัญชานั้นมีทั้งประโยชน์และโทษ หากนำมาใช้เป็นส่วนประกอบของอาหารก็ควรแจ้งผู้บริโภคก่อนทุกครั้ง เนื่องจากกัญชาไม่สามารถใช้ได้กับทุกคน หากเด็กเล็กเผลอทานเข้าไปอาจทำให้เกิดอาการแพ้และเป็นอันตรายได้
รวมถึงการใช้และบริโภคเองโดยทั่วไปก็ต้องใช้อย่างระมัดระวัง ควรศึกษาข้อมูลต่างๆ ให้ถี่ถ้วนเพราะสามารถเกิดอาการข้างเคียงขึ้นได้ ควรใช้ในปริมาณที่เหมาะสมจึงจะมีประโยชน์ ที่สำคัญการใช้กัญชาไม่ได้สามารถรักษาได้ทุกโรคหรือเหมาะรักษากับทุกคน ดังนั้น เพื่อประสิทธิภาพที่ดีควรเข้ารับการปรึกษากับแพทย์เพื่อประเมินสุขภาพและข้อควรระวังต่างๆ ก่อนรับประทาน จึงจะเป็นประโยชน์ในรักษาทางการแพทย์ (ปัจจุบันมีแอพพลิเคชั่นที่สามารถรับคำแนะนำจากแพทย์ทางออนไลน์ ที่จะช่วยอำนวยความสะดวกให้กับคุณได้อย่างมาก โดยสามารถหาข้อมูลเพิ่มเติมได้ในบทความ แอพปรึกษาหมอฟรี!)
อ้างอิงจาก
https://www.sikarin.com/health/กัญชา-บริโภคมากเกินเส
https://th.yanhee.net/หัตถการ/กัญชาทางการแพทย์-ทางเลือกเพื่อช่วยผ่อนคลาย/