‘เบาหวาน’ โรคเรื้อรังที่เป็นแล้วยากที่จะรักษาให้หายขาดได้ ซึ่งในวันเบาหวานโลกประจำปี 2563 ที่ผ่านมา ศ.เกียรติคุณ พญ.วรรณี นิธิยานันท์ นายกสมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทยฯ กล่าวว่า ประเทศไทยมีผู้ป่วยเบาหวานที่ได้รับการรักษาเพียง 54.1 % หรือเท่ากับ 2.6 ล้านคนเท่านั้น อีก 40% ยังไม่รู้ว่าตัวเองป่วย ทำให้ตอนนี้อัตราผู้ป่วยมีเพิ่มขึ้นถึง 1 แสนคนต่อปีและเสียชีวิตมากถึงวันละ 200 รายและยังมีแนวโนวที่จะเพิ่มสูงขึ้นอีกหากหลาย ๆ คนยังไม่ทราบถึงปัญหาที่แท้จริงว่าเบาหวานเกิดจากอะไรและก่อให้เกิดผลเสียร้ายแรงแค่ไหน ดังนั้นเรามาทำความรู้จักกับเบาหวานและวิธีลดความเสี่ยงไม่ให้เกิดโรคนี้กับตัวคุณและคนที่คุณรักกัน
โรคเบาหวาน เกิดจากสาเหตุอะไร?
โรคเบาหวาน เป็นโรคเรื้อรังที่ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ ซึ่งเกิดจากการที่ร่างกายมีการผลิตฮอร์โมนอินซูลินไม่เพียงพอ ทำให้ร่างกายไม่สามารถนำน้ำตาลไปใช้งานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ส่งผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้น หากผู้ที่เป็นแล้วไม่รู้ตัวและไม่ได้รับการรักษาอาจทำให้หลอดเลือดถูกทำลายและก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนของโรคเบาหวานที่รุนแรงขึ้น ซึ่งปัจจัยที่ทำให้เกิดโรคเบาหวานมักมาจากสาเหตุ ดังนี้
สาเหตุของโรคเบาหวาน
- ผู้ที่เป็นโรคอ้วน
- ผู้ที่ไม่ชอบออกกำลังกายหรือไม่ค่อยเคลื่อนไหวร่างกายระหว่างวัน
- ผู้ที่มีอายุมากขึ้น โอกาสเป็นเบาหวานก็เพิ่มสูงขึ้น
- ผู้ที่ชอบดื่มแอลกอฮอล์และสูบบุหรี่เป็นประจำ
- คนในครอบครัวมีประวัติการเป็นเบาหวาน
- ความเครียดเรื้อรัง
- การติดเชื้อไวรัสบางชนิด เช่น หัด หัดเยอรมัน คางทูม ซึ่งมีผลต่อตับอ่อน
- การได้รับยาบางชนิด ที่มีผลในการสร้างน้ำตาลมากขึ้นหรือทำให้การตอบสนองของอินซูลินไม่ดี
- การตั้งครรภ์ เนื่องจากมีการสร้างฮอร์โมนจากรกหลายชนิด ทำให้มีผลยับยั้งการทำงานของอินซูลิน
โรคแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นได้หากเป็นเบาหวาน
- ติดเชื้อได้ง่ายเนื่องจากร่างกายมีภูมิคุ้มกันที่ต่ำลง
- ประสาทตาหรือจอตาเสื่อม ทำให้อาจเป็นต้อกระจกก่อนวัยได้
- เบาหวานมักไปตามเส้นประสาทส่งผลให้ปลายมือและเท้าชา เกิดแผลได้ง่าย จนก่อให้เกิดความพิการได้
- ไตเสื่อมจนเกิดภาวะไตวาย
- เกิดภาวะคีโตซีส ทำให้มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน มีไข้
- ผนังหลอดเลือดแดงแข็ง ส่งผลให้ความดันโลหิตสูงงขึ้น ทำให้หัวใจขาดเลือดหรือเป็นอัมพาต และเป็นสาเหตุหนึ่งของการเกิดโรคหัวใจวายเฉียบพลันได้
สัญญาณเตือนโรคเบาหวาน
ผู้ที่เป็นโรคเบาหวานในระยะแรกนั้นแทบจะไม่แสดงอาการอะไรเลย มีเพียงอาการเล็กน้อยเท่านั้น จึงทำให้หลายคนไม่รู้ตัวว่ากำลังเผชิญกับโรคนี้อยู่ หากไม่มีการดูแลหรือรักษาให้ทันเวลาอาจเกิดโรคแทรกซ้อนที่เป็นอันตรายต่อร่างกายตามมาได้ หากคุณสังเกตตัวเองว่าเริ่มมีอาการดังต่อไปนี้ให้รีบปรึกษาแพทย์โดยด่วน
- ปัสสาวะในปริมาณที่มากและบ่อยมากขึ้น สาเหตุมาจากไตที่พยายามกรองน้ำตาลที่สูงผิดปกติให้ออกมาทางปัสสาวะ
- กระหายน้ำบ่อย เนื่องจากร่างกายมีการขับปัสสาวะออกไปในปริมาณมาก ส่งผลให้ร่างกายเกิดอาการขาดน้ำ
- กินเยอะขึ้น แต่น้ำหนักลดลง
- แผลหายช้ากว่าปกติ
- สายตาพล่ามัว การมองเห็นแย่ลง
- ชาที่ปลายมือและปลายเท้า
- ติดเชื้อได้ง่ายทำให้คันตามตัวหรือมีตกขาวบ่อย
- รู้สึกอ่อนเพลียมาก คลื่นไส้ อาเจียน หายใจหอบและเหนื่อยเนื่องจากน้ำตาลในเลือดสูงเฉียบพลัน อาจทำให้หมดสติได้
หากคุณกำลังมีสัญญาณเตือนโรคเบาหวานตามที่กล่าวมาข้างต้นอยู่หลายข้อ การเลือกใช้ แอพพลิเคชั่นปรึกษาหมอฟรี อาจเป็นทางเลือกที่สะดวกในการเข้ารับคำแนะนำเบื้องต้นจากแพทย์ให้กับคุณได้
วิธีลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคเบาหวาน
- หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่หรือดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ
- หลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันสูง ขนม หรือเครื่องดื่มที่ให้ความหวานอย่างน้ำอัดลม
- หลีกเลี่ยงการกินอาหารแปรรูป เช่น เบคอน ไส้กรอก อาหารหมักดอง ฯลฯ
- หลีกเลี่ยงอาหารหวานจัดเพราะเมื่อกินอาหารหวานเข้าไปน้ำตาลจะถูกย่อยเป็นกลูโคสและฟรุกโตส ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว
- เน้นกินอาหารที่มีสารอาหารครบถ้วนหรือมีกากใยสูงเช่น ผัก ผลไม้ ธัญพืช ข้าวกล้อง ขนมปังโฮลวีท
- เลือกกินเนื้อสัตว์เนื้อขาวที่ไม่ติดมัน เช่น ปลา ไก่ หรืออาหารทะเลแทนสัตว์เนื้อแดง
- เคลื่อนไหวร่างกายบ่อย ๆ หรือออกกำลังกายเป็นประจำอย่างต่อเนื่อง
- จัดการกับความเครียดเพราะเมื่อร่างกายรู้สึกเครียดจะหลั่งฮอร์โมนที่ทำให้รู้สึกอยากกินของหวาน
- นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดไม่แกว่งและฮอร์โมนต่างๆ หลั่งออกมาทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ
- ดื่มนมจืดพร่องมันเนยหรือขาดมันเนยประมาณ 250 มิลลิลิตรต่อวันหรือโยเกิร์ตรสธรรมชาติไม่เกิน 1 ถ้วยต่อวัน
เบาหวาน โรคที่ไม่หวานแบบชื่อแถมยังน่ากลัวมาก ๆ อีกด้วย หากคุณไม่อยากเป็นโรคนี้การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกินโดยเฉพาะเน้นไปที่การควบคุมน้ำตาลรวมถึงการควบคุมน้ำหนักและออกกำลังกายอย่างเหมาะสมจะทำให้คุณห่างไกลจากโรคนี้ได้ หรือสำหรับคนที่เป็นโรคนี้แล้วก็ไม่ต้องกังวล การได้รับการรักษาที่ถูกวิธีและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกินจะช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดและคลอเลสเตอรอลให้อยู่ในระดับปกติ ซึ่งลดโอกาสสำหรับการเกิดโรคแทรกซ้อนที่เป็นอันตรายต่อร่างกายได้
อ้างอิง